ประวัติความเป็นมา

history of Thai chinese business association of chiangmai

ประวัติความเป็นมาสมาคมนักธุรกิจไทยจีนเชียงใหม่

          เป็นเวลากว่า 200 ปีที่ชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ได้ทยอยเดินทางอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และได้สืบทอดมรดกทางสายเลือดมาสู่ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นรุ่นที่ 4 และ 5 ตามลำดับ การดำเนินชีวิตของชาวจีนรุ่นแรก ส่วนใหญ่ได้ประกอบอาชีพค้าขาย มีบางส่วนเป็นช่างฝีมือ เช่นช่างเย็บผ้า ช่างทำรองเท้า ช่างกล ช่างก่อสร้าง หรือทำอาชีพเกษตร ฯลฯ

          ชาวจีนโพ้นทะเลไม่ว่าจะอพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไหนในโลก จะยังคงรักษาวัฒนธรรมและประเพณีไว้อย่างเหนียวแน่น เอกลักษณ์ที่โดดเด่นก็คือ การรวมตัวกันเป็นหมู่คณะหรือองค์กร เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และจะร่วมกันสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคมในท้องถิ่นนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง

          เมื่อปี1876(พ.ศ. 2419) ชาวจีนในจังหวัดเชียงใหม่ได้รวมกันก่อตั้งศาลเจ้าปุงเถ่ากง-ม่า ขึ้น เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นที่พึ่งทางใจของชาวจีน ราวปี1901( พ.ศ. 2444) เป็นต้นมา นักธุรกิจชาวจีนได้เปิดโรงเรียนจีนหลายครั้งหลายโรง เพื่อให้ลูกหลานชาวจีนได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน ได้สืบทอดมรดกทางปัญญาและทรัพย์สินมาจนทุกวันนี้ ในนามโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุงวิทยา

ในปี1957( พ.ศ. 2500) ชาวจีนในเชียงใหม่ได้ร่วมกันก่อตั้ง “มูลนิธิเชียงใหม่สามัคคีการกุศล” โดยใช้ที่ดินและอาคารของโรงเรียนฮั่วเคี้ยวเดิมเป็นที่ทำการ มีวัตถุประสงค์ที่จะบริหารงานของสุสานจีนข่วงสิงห์ และเป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมสาธารณะกุศลของชาวจีนทุกหมู่เหล่า องค์กรนี้ได้สร้างชื่อเสียงและเกียรติประวัติให้แก่ชาวไทยเชื้อสายจีนในท้องถิ่น มีผลงานเป็นที่ยอมรับของทางราชการและสังคมในจังหวัดเชียงใหม่มาโดยตลอด

          ในปี 1972(พ.ศ. 2515) นักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนหลายท่าน โดยการนำ ของนายทรวง เตริยาภิรมย์ นายณรงค์ ศักดาทร นายธวัช ตันตรานนท์ ฯลฯ ได้ร่วมกันก่อตั้ง “สมาคมพ่อค้าจีนเชียงใหม่” มีผู้สมัครเป็นสมาชิกเป็นจำนวนมาก นายทรวง เตริยาภิรมย์ ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมคนแรก ในช่วงระยะเวลาเริ่มต้นได้ขอใช้สถานที่มูลนิธิเชียงใหม่สามัคคีการกุศลเป็นที่ทำการ ต่อมาในสมัย นายกศุภฤกษ์ ลิ้มเล็งเลิศเป็นนายกสมาคม ได้มีการระดมทุนกว่า 10 ล้านบาท เพื่อทำการก่อสร้างที่ทำการสมาคม มีห้องประชุมขนาดใหญ่สามารถรับรองคนได้กว่า 1,000 คน โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก มูลนิธิช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุงวิทยาให้ใช้ที่ดินกว่า 2 ไร่ เพื่อการก่อสร้างอาคารสมาคมมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

     ปี2009 (พ.ศ.2552) คณะกรรมการบริหาร สมัยที่ 18 และ19 ซึ่งมีนายนพดล อานนทวิลาศ เป็นนายกสมาคม ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อ “สมาคมพ่อค้าจีนเชียงใหม่” เป็น “สมาคมนักธุรกิจไทยจีนเชียงใหม่” เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาองค์กรให้เป็นศูนย์กลาง การประสานงานระหว่างองค์กรจีนกว่า40องค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกองค์กรโดยส่วนรวม

          ปี2012 (พ.ศ.2555) สมัยที่20 ภายใต้การนำของ นายทรงวิทย์ อิทธิพัฒนากุล ปี2013 (พ.ศ.2556) สมาคมนักธุรกิจไทยจีนเชียงใหม่ ได้ก้าวสู่ปีที่41 ซึ่งเป็นอีกวาระของคณะกรรมการบริหารสมัยที่21 นายทรงวิทย์ อิทธิพัฒนากุล เป็นนายกสมาคมฯ ได้มีการระดมสรรพกำลัง ทั้งทรัพยากรบุคคล และทุ่มเทกำลังทรัพย์มากมาย เพื่อผลักดันให้สมาคมนักธุรกิจไทยจีนเชียงใหม่ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เป็นองค์กรที่ทันสมัยทันต่อกระแสโลกาภิวัตน์ทีมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคมอย่างรวดเร็ว มีการบูรณซ่อมแซมอาคารสมาคมที่ต้องใช้งบประมาณกว่า 5 ล้านบาทได้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมรองรับการมาเยือนของนักธุรกิจจากต่างจังหวัดและจากประเทศต่างๆในอาเซียนรวมถึงประเทศบรรพบุรุษด้วย

          เมื่อก้าวสู่ปี2015-2019 (พ.ศ.2558-2562) ซึ่งเป็นวาระที่22-23 คณะกรรมการได้มีมติคัดเลือกให้คุณอาโป ทักษิณกำเนิดเป็นนายกสมาคมฯ จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจที่จะนำพาองค์กรสู่การเป็น “ ศูนย์รวมนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีน เชื่อมโยงมิตรภาพเสริมสร้างเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรม สู่ประชาคมอาเซียน” ตามพันธกิจที่ตั้งไว้

          ปัจจุบัน สมาคมนักธุรกิจไทยจีนเชียงใหม่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 47 เป็นช่วงวาระการบริหารของคณะกรรมการบริหารสมัยที่ี 24 (พ.ศ. 2562-2564 ) ภายใต้การนำของ นายพิสิษฐ์ จินตวิวัฒน์ นายกสมาคม ฯ มีความมุ่งมั้่นตั้งใจทีจะผลักดันให้สมาคมฯมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมีคุณภาพ เป็นองค์กรภาคเอกชนที่พร้อมรองรับสถานการณ์ในยุคโลกาภิวัฒน์ โดยการสานต่อพันธกิจของคณะกรรมการบริหารสมัยที่ผ่านมา พร้อมกับร่วมกันกำหนดนโยบายและวางแผนการดำเนินงานทั้งเชิงรุกและรับ เพื่อให้สมาคมมีศักยภาพความก้าวหน้าอย่างมั่นคง มีเกียรติภูมิได้รับความเชื่อถือทั้งจากสมาชิกและองค์กรภาครัฐเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศ เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”ของจีนและประชาคมอาเซียน ส่งเสริมให้สมาชิกและนักธุรกิจมีโอกาสพัฒนาศักยภาพด้านธุรกิจ สังคม การศึกษาและวัฒนธรรมต่อไป